Close

DeFi การเงินและการธนาคารบน Blockchain

เริ่มต้นจากช่วงหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมเองได้ลองให้ความสนใจในตลาดคริปโต ซึ่งตอนนั้นคือจุดสูงสุดของราคาเหรียญทุกเหรียญในตลาดฯ ช่วงนี้ ก่อนที่มันจะปรับฐานลงมาเกือบครึ่งนึงเลยทีเดียว ในกลางเดือนพฤษภาคม 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ เรากลัวความผันผวนของเงินคริปโตทั้งๆ ที่เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับมัน เข้าใจเพียงแค่มันคือสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เท่านั้น มันยังมีอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นเรื่องราวใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น Smart Contract, dApps, DeFi, NFT, และอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต

นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ Blockchain 1.0 ซึ่งนั่นก็หมายถึง BitCoin หรือจะเป็น Blockchain 2.0 อย่าง Ethereum ที่เน้นเรื่องของ Smart Contract และยังมี เวอร์ชั่น 3.0 อีกซึ่งอาจจะขอเล่าให้ฟังในอนาคตนะครับ วันนี้เรามาอยู่กับเวอร์ชั่น 2.0 ก่อน และนอกจากนั้น การทำงานบน Ethereum นั้นเนื่องจากเป็น Decentralized ทำให้มันยังทำงานได้ช้า (ปัจจุบันความสามารถในการประมวลผลอยู่ที่ 15 Transaction per second) และเสียค่า Gas fee ที่ราคาค่อนข้างแพง โดยจุดนี้ทำให้ Binance ซึ่งเป็น Crypto Exchange อันดับ 1 ของโลก เปิดให้บริการ BSC (Binance Smart Chain) ขึ้นมารองรับตลาด dApps, Smart Contract และ DeFi แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้กันไว้ก็คือ ทุกอย่างทำงานอยู่บนเซิฟเวอร์ของ Binance นะครับ นั่นก็เท่ากับว่าเรายังไม่ได้เป็น Decentralized แบบเต็มตัวนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามทาง Binance นอกจากเรื่องรายได้มหาศาลแล้ว เค้าก็มีความตั้งใจให้นักพัฒนาได้เริ่มต้นกับระบบที่ทำงานได้รวดเร็วและค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมากเมื่อเทียบกับการทำงานบน Ethereum ที่ตอนนี้ก็ยังพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็น Ethereum 2.0 ที่เปลี่ยนจากการทำงานผสมผสานของ Proof of Works และ Proof of Stake ให้เหลือเพียง PoS เพียงอย่างเดียว พร้อมกับพัฒนาระบบ Blockchain ใหม่ ให้มีการทำงานได้ไวขึ้น ทั้งระบบ Shard Chain และ Beacon Chain 

แล้ว DeFi คืออะไร? กันล่ะ DeFi หรือเรียกเต็มๆว่า Decentralized Finance ซึ่งอธิบายภาษาชาวบ้านก็คงเป็นเหมือนๆ กันธนาคาร หรือสถาบันการเงินเนี่ยแล่ะ ที่ให้เรานำเงินเข้าไปฝาก และตัวธนาคาร ก็เอาเงินของเราไปปล่อยกู้ พอได้ดอกเบี้ยมา ก็เอามาแบ่งสรรปันส่วนให้กับเจ้าของเงินอย่างเรานี่เอง เพียงแต่ว่าธนาคารเดิมๆ ที่เราฝากเงินกันอยู่ เค้าได้รับดอกเบี้ยที่แพง แต่มาแบ่งจ่ายดอกเบี้ยให้กับเราที่เป็นเจ้าของเงินในอัตราที่น่ารักจุ๋มจิ๋มจนเกินไป

แต่การนำเงินเข้าไปฝากในระบบ DeFi นั้นมีทั้งรูปแบบของการ Farm และการ Stake โดยการ Farm คือการเสริมสภาพคล่อง (Liquidity) ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม และเหมือนการใช้สกุลเงินอื่นมารับรองสภาพคล่องนั่นเอง ส่วนการ Stake คือการให้แพลตฟอร์มใช้ทรัพย์สินของเราในการตรวจสอบ (Validate) ความถูกต้องของแต่ละ Transaction 

ตลาด DeFi นั้นเป็นกระแสมาตั้งแต่ต้นปี 2020 แล้ว เพราะเมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการลงทุนแล้ว ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตลาดอื่นๆ เป็นตัวเลขที่เยอะมากนั่นเอง แต่ก็ต้องแลกด้วยความเสี่ยงที่สูงมากๆ เช่นกัน เพราะบางครั้งตัว dApps หรือ Smart Contract ที่เขียนขึ้นมาอาจมีช่องโหว่ให้ถูกโจมตีได้ หรือแม้แต่ บางแพลตฟอร์ม ที่ตั้งใจให้มีช่องโหว่ในการโจมตี เพื่อที่จะได้โกยเงินของเราไป หรือที่แย่ที่สุด ก็คือ เคสล่าสุดของ DeFi100 ที่เชิดเงินไปอย่างหน้าตาเฉย พร้อมประกาศลงเว็บไซต์ของแพลตฟอร์มด้วยซ้ำ ซึ่งเคสนี้ได้เงินไปเป็นหลักพันล้านเลยทีเดียว

ดังนั้น หากใครสนใจในตลาด DeFi ขอแนะนำให้ลองศึกษาข้อมูลดีๆ ทำความเข้าใจกับ Smart Contract หรืออย่างน้อย อย่าให้ความโลภเป็นตัวนำในการลงทุนในตลาดนี้เลยครับ อย่าไปดูแค่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนสูงๆเป็นหลักให้ดูด้วยว่า แต่ละแพลตฟอร์มนั้น เค้ามีบริการหรือมีโปรดักส์อะไรที่น่าสนใจ และมีโอกาสเติบโตในอนาคตจะดีกว่าครับ

ท้ายนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมเองก็เริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับตลาดเงินคริปโต, Smart Contract, DeFi, NFT และอื่นๆ ยังไงหากมีข้อมูลส่วนไหนตกหล่นไปขออภัยด้วยครับ และหากใครพอจะมีความรู้ และพอมีเวลา อยากให้ลองมาแชร์ความรู้ให้ผมหน่อยจะเป็นการขอบคุณอย่างสูงเลยครับ  หากมีข้อมูลที่ผมได้เรียนรู้มาและคิดว่าน่าจะพอเป็นประโยชน์จะมาเขียนให้อ่านกันอีกนะครับ

svg1 min read

Leave a reply