ในฐานะอดีตเจ้าของร้านกาแฟอินดี้ เมื่อหลายปีก่อน ต้องบอกเลยว่า ทุกๆวัน ต้องมีกาแฟเป็นส่วนประกอบนึงในชีวิต หรือจะเรียกง่ายๆว่า มีอาการของคนติดกาแฟนั่นเอง เพราะถ้าวันไหนรีบๆเร่งๆ แล้วลืมชงกาแฟกิน จะมีอาการปวดหัวขึ้นมาทันที เลยไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่กาแฟ จึงกลายมาเป็นอีกเรื่องที่ผมสนใจมาก ซึ่งก็รวมไปถึงความสนใจที่จะมองหาเครื่องดื่มในรูปแบบใหม่ๆ มาลองลิ้มชิมรสกันอยู่เรื่อยๆ
Cold Brew (โคลบริว / โคลบรู) อ่านยังไง ก็แล้วแต่ความถนัด เป็นวิธีการทำการแฟที่ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย เพราะการทำกาแฟสกัดเย็น ที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมง มีมานานมากแล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะกว่าจะได้กินแต่ละแก้ว นั่นคือต้องผ่านระยะเวลาสกัดอย่างน้อยๆ ก็ 12 ชั่วโมง น่าจะไม่ค่อยทันกินซักเท่าไหร่
แต่กับร้านกาแฟ Starbucks ไม่ได้คิดแบบนั้น เมื่อ Starbucks เริ่มนำเครื่องดื่ม Cold Brew เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ซึ่งแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก เพราะจริงๆแล้วคนไทยติดตรงที่กินกาแฟ ต้องมีความหวาน หรือมีนมมีครีม ซึ่งกาแฟ Cold Brew ไม่ได้เป็นแบบนั้น จนเมื่อ Starbucks ได้นำเอาเมนู Nitro Cold Brew เข้ามาขายเท่านั้นแล่ะ ทำให้ได้รับเสียงตอบรับจากนักดื่มคนไทยอย่างมากมาย ด้วยสัมผัสของมัน ออกจะละม้ายคล้ายเบียร์สดนั่นเอง ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความนุ่มละมุน เบา ไม่ขมของกาแฟ แบบที่ชงด้วยน้ำร้อน
นั่นเลยกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ Cold Brew กินเองที่บ้าน โดยซื้อเครื่องทำยี่ห้อ Toddy ซึ่งมีขายที่ Starbucks บางสาขา หรือจริงๆแล้ว ลองหาซื้อใน eBay อาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าพอสมควร แต่ไหนๆ อยากลองทำกินดูแล้ว ก็เลยไม่ได้สั่งจาก eBay เพราะไม่อยากรอนาน เอามาทำกินเลยดีกว่า
พอถึงคราวที่ต้องทำเอง ก็ต้องมานั่งดูสูตรแต่ละร้านที่ใช้กัน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำกาแฟ Cold Brew ออกมาค่อนข้างเข้มข้น เพราะเผื่อเอาไว้สำหรับใส่นมแล้วจะพอดีมากๆ ซึ่งส่วนตัวโดยปกติจะนิยมทำกาแฟร้อนกินในช่วงเช้า แต่บ่ายๆ หรือค่ำๆ พอเป็นกาแฟ Cold Brew แล้วมีรูปแบบการดื่มที่หลากหลายมากเลย ไม่ว่าจะใส่นม ใส่น้ำผลไม้ลงไปเล็กน้อย (แนะนำเฉพาะน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว) หรือใส่น้ำเปล่าก็รู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้ครับ