ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนกรุงเทพฯ มากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งเลย สำหรับเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่พม่า เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งแรงสั่นสะเทือนมาถึง กรุงเทพฯช่วงเวลาประมาณ 13:30 น. โดยส่วนตัวรู้สึกได้ และเชื่อว่า หลายๆ คน เริ่มรู้สึก และ คิดไปทางเดียวกันหมด ก็คือ ทำไมเวียนหัว ทำไมบ้านหมุน หรือว่า ขาดน้ำตาล บางคนก็หรือว่า นอนน้อย หนักสุดที่ได้คุยกับเพื่อนบางคน คิดไปถึงกับว่า นี่มันอาการก่อนเกิดเหตุเส้นเลือดสมองตีบนี่หว่า ซึ่งเหตุวันนั้น ผมเอง รู้สึกตัวและสิ่งแรก ที่ทำก็คือ แหงนหน้าดูเพดานก่อนเลย เพราะในออฟฟิศ ตกแต่งเพดานแบบเปลือย ดังนั้น ไฟทั้งหมดจะห้อยลงมา สังเกตง่ายหากแผ่นดินไหว

สิ่งที่รับรู้ได้เลยก็คือ เมื่อเกิดเหตุ ทุกคน ต่างคิดแค่ วิ่งลงจากอาคารกันทันที ไม่ว่า แผ่นดินไหวจะหนักหรือจะเบาก็ตาม เหตุที่เรียกว่า หนักหรือเบาในครั้งนี้เพราะมันเป็นการสั่นแบบคลื่นยาว ทำให้ครั้งนี้ อาคารที่มีความสูงมาก จะมีการโยกมากกว่าอาคารเตี้ย หรืออาคารระดับกลาง แต่สิ่งที่ทำให้คนตื่นตระหนกได้มากที่สุด ก็คงเป็นเหตุที่ มี่ข่าว อาคารที่กำลังก่อสร้างของ สตง เกิดถล่มลงมา และมีคนงานที่ติดอยู่ในอาคารเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย แถมตอนนี้ ทุกคนสามารถดูข่าว ดูคลิป ได้จากโทรศัพท์มือถือได้ไม่ยาก ก็ยิ่งตื่นตระหนกกันไปใหญ่

ที่อาคารที่ผมทำงานอยู่กลางสาทรเลย ทำให้โดยรอบจะมีพนักงาน หรือข้างๆ ที่เป็นโรงแรม จะมีนักท่องเที่ยว ถูกเกณฑ์ลงจากตึกมาออกันอยู่ที่สนามของตึกที่ผมอยู่ เพราะมีพื้นที่สนามอยู่จำนวนมาก ก็จะได้เห็นทั้งพนักงานในตึกจับกลุ่มนั่งคุยถึงเหตุการณ์ หรือไม่ก็ไถมือถือ เพื่ออัพเดทข่าวสาร แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจากโรงแรมข้างๆ ที่มีลุงๆหลายๆคนมาด้วยกางเกงขาสั้นตัวเดียว มายืนรอสถานการณ์ หรือบางคนมาในชุดคลุมอาบน้ำก็มีให้เห็นครับ 

ความตระหนกกับ เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำเอาเหนื่อยตามๆ กันเลย ก่อนอื่น พอเข้าใจ คนที่อพยบมาจากตึกสูงนะครับ เพราะด้วยครั้งนี้ ใครที่อยู่บนตึกสูงจะโยกกว่าคนที่อยู่ต่ำกว่าเยอะมาก แต่เราก็จะได้เห็นคนที่ไม่ได้มีผลอะไร แต่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ จนมีเหตุให้บาดเจ็บ หรือบางรายได้ข่าวว่า ชนกันล้มหัวกระแทก ถึงขั้นเสียชีวิต ก็มี หรือที่ได้พบเจอเองก็คือ การจราจรในวันศุกร์ ตั้งแต่บ่าย 2 คือ สภาพแย่ที่สุดวันนึงที่เคยเจอเลยก็เป็นได้ เพราะการปิดรถไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้ทุกอย่างมากระจุกตัวอยู่บนถนนนั่นแล่ะ ครั้งนี้จึงขอบคุณตัวเอง ที่ไม่ได้ตระหนกใดๆ เลย เพราะสุดท้ายแล้ว สติจะทำให้เราตัดสินใจ หรือทำอะไรได้ดีกว่า ความตระหนกแน่นอน

กลับมาเป็นปกติให้ไวที่สุด ซึ่งบอกเลยเรื่องนี้พอเราไม่ตระหนก เราก็จะวางแผนแล้วว่า เราจะทำอะไร ในวันนั้น สิ่งที่คิดก็คือ ในเมื่ออาคารไม่อนุญาตให้ขึ้น เราทำอะไรไม่ได้ นอกจากกลับบ้าน และ ถ้าขับรถกลับสิ่งแรกที่จะดูคือ เวลาที่ประมาณการณ์ใน Google Maps นานแค่ไหน (ความเป็นจริงจะนานกว่านั้นแน่นอน) และพอคำนวณแล้วเรายังไม่ได้กินข้าว ขับรถกลับคงได้ปวดท้องแน่นอน ก็เลยเดินไปหาอะไรกินก่อนที่จะขับรถกลับบ้าน จนมาดูเวลาหลังจากกินข้าวเสร็จ เพราะเข้าใจว่า ในเมื่อทุกคนรีบออกกันหมด ถ้าเรากินข้าวเสร็จถนนอาจจะโล่งขึ้นก็เป็นได้ แต่ไม่เลย เพราะเหมือนจะติดมากขึ้นด้วย ก็เลยรู้แล้วว่า หากช้ากว่านี้ กลับบ้านมืดแน่ แต่ก็ไม่ลืมทักถามน้องๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันให้เค้าติดรถกลับมาด้วย

ข่าวที่ชอบที่สุดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว คือ มีผู้หญิงคนนึง ประสบปัญหาในการหารถกลับบ้าน เพราะ BTS, MRT ปิดให้บริการทั้งหมด รอตรวจสอบความปลอดภัยของราง และถนนก็เต็มไปด้วยรถติดมหาศาล เรียกแกร็บก็ไม่มีใครกดรับ เพราะทั้งกรุงเทพฯ ทุกคนก็หวังพึ่งพาแกร็บกันหมด การเรียกรถไปส่งไกลๆ ไม่มีคนรับแน่นอน เพราะจากที่สอบถามมาก แกร็บจะอยากได้คนในเมืองวิ่งไปไม่ไกลมาก เพื่อทำรอบ ซึ่งก็พอเข้าใจเค้าได้ แต่ชีกลับตัดสินใจไปซื้อรถมอไซค์เพื่อขี่กลับบ้านเลย อันนี้ถูกใจมาก เมื่อถึงคราวที่ต้องแก้ปัญหา และคุณมีเงิน คุณจะทำมันได้ไม่ยากเลย 

จบเหตุแล้วอาจจะมี อาฟเตอร์ช็อคตามมา เพราะวันจันทร์ มีการสั่นตามมาอีกเล็กน้อยบนอาคารสูง ทำให้หลายๆ ที่เลือกปล่อยคนให้กลับไปทำงานที่บ้านแทน แต่ที่ต้องกลับมาคิดก็คือ เราเองอยู่บนความเสี่ยงในหลายๆ เรื่องอยู่ตลอดเวลา ทั้้งจากธรรมชาติ ที่เราไม่มีทางปฏิเสธได้เลย จากโรคร้าย ที่เดี๋ยวซักวันมันก็จะมีโรคใหม่ๆ หรือแม้แต่จากหน้าที่การงานที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน งานที่เราทำ อาจจะไม่ได้มีคุณค่ากับผู้คนอีกต่อไป และสุดท้าย บางงานเราอาจจะถูกแทนที่ด้วยเอไอในอนาคตอันใกล้

แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไรล่ะ?

มีเงินในกระเป๋าให้เพียงพอ ถ้าน้ำท่วมเราก็จะไปเที่ยวจนกว่าน้ำจะลด
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โรคใดๆ มา ก็ให้กระทบกับเราน้อยที่สุด
ฝึกทักษะใหม่ๆ ที่เอไอไม่สามารถทำแทนได้ และยังมีความต้องการของตลาด
เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองเถอะ ถ้าทำได้หารายได้ที่มาแบบอัตโนมัติ passive income