Close

CBDC ในประเทศไทย หรือ Baht Digital จะมาเมื่อไหร่กันแน่?

CBDC คืออะไรกันแน่ เรามักจะได้ยินคำคำนี้บ่อยมากขึ้นในหัวข้อการเงินและธนาคาร เพราะคำเต็มๆของ CBDC มาจาก Central Bank Digital Currency หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นแล่ะ) ซึ่งถ้ามีการติดตามข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะรู้ว่าทีมงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีการศึกษาความเป็นไป และสิ่งที่จะเกิดผลกระทบจากการมีและการใช้งาน CBDC หรือ บาทดิจิทัล ในประเทศไทยมาซักระยะเวลานึงแล้ว 

สำหรับคนที่อยู่ในตลาดคริปโตมาก่อนแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจจะมีสกุลเงินที่เป็น Stable Coin ใช้งานกันอยู่แล้ว ซึ่งเราเองก็อาจจะเคยได้ยินข่าวร้านหมูกระทะบางร้านก็สามารถชำระเงินค่าอาหารมื้อนั้นด้วยเหรียญคริปโต ซึ่งก็คือ Stable coin อย่าง USDT, BUSD, หรือ USDC นั่นเอง ซึ่ง CBDC หรือเงิน บาทดิจิทัล ก็เป็นแบบเดียวกัน คือเป็นเหรียญที่มีค่าค่อนข้างคงที่ตายตัว 1 บาทดิจิทัล ก็มีค่าเท่ากับ 1 บาทนั่นเอง เพียงแต่สิ่งที่พิเศษกว่าก็คือเหรียญหรือสกุลเงินนี้ ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งเราสามารถให้ความเชื่อถือได้มากกว่าเหรียญที่ออกโดยบริษัทหรือองค์กรเอกชน 

หนึ่งในประเทศที่ผมได้เห็นข่าวบ่อยๆ เกี่ยวกับการเริ่มใช้งาน CBDC ก็คือประเทศจีน ประเทศที่แบนเหรียญคริปโตต่างๆ มาตลอด แต่ก็เป็นประเทศที่มีการเริ่มใช้ ดิจิทับหยวน ในระดับรีเทลได้ไวมากทีเดียว แต่ถ้าพูดถึงประเทศที่มีการใช้งาน CBDC แบบเต็มระบบเป็นประเทศแรกๆ ก็คงต้องยกให้ประเทศบาฮามาสนั่นเอง เรื่องนี้ทำให้ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ที่เราเองเป็นประเทศที่มีการใช้ Mobile Banking เป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน จะเป็นรองก็เพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้นครับ

ถ้าให้สารภาพตามตรง ผมเองก็เป็นคนที่เคยคิดว่า หน่วยงานของรัฐไทยนั้นน่าจะเป็นพวกหัวโบราณ และไม่ยอมเปิดรับกระแสโลก ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และสุดท้ายก็ต้องตามหลังชาวโลกไปเรื่อยๆ จนได้มาหาข้อมูลของ CBDC เนี่ยแล่ะ ถึงได้รู้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอสมควร ตั้งแต่จัดตั้งโครงการอินทนนท์ ที่ทำงานร่วมกันกับสถาบันการเงินเอกชนและผู้ให้ผู้พัฒนาระบบ DLT (Distributed Ledger Technology) ในการทดลองการโอนเงินที่เป็น CBDC ข้ามสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อจำลองการทำธุรกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แถมยังครอบคลุมถึงการใช้งาน Smart Contract และการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยมีการทดสอบต่างๆ ในปี 2019 แต่ทั้งหมด เป็นการจำลองการทำงานที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันการเงินเป็นหลัก

สำหรับในระดับรีเทลนั้น ผมเคยได้ยินมาจากคนของธนาคารแห่งประเทศไทยเองว่า มีการคิดไปไกลถึงระดับของการให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้งาน CBDC ได้ ถึงแม้ว่า ประชาชนบางคนอาจไม่สามารถเข้าถึง Smartphone ได้ หรือไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลาก็ยังสามารถใช้งาน Baht Digital ได้ โดยอาจนำเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) มาใช้งานแบบเดียวกันกับ บัตรรถไฟฟ้า หรือบัตรแรบบิท ที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมี Smartphone หรือ Internet เลย และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเลือกวิธีการออก CBDC ในรูปแบบ two-tier ที่ให้สถาบันการเงินต่างๆ (ไม่ได้มีเฉพาะธนาคารเท่านั้น) มามีส่วนร่วมในการกระจายเงิน บาทดิจิทัล แบบเดียวกันกับการกระจายธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

คราวนี้เราก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า เราจะได้เห็น CBDC ในประเทศไทยกันเมื่อไหร่ ที่สำคัญก็คือคนไทยทุกคนนั้นสามารถเข้าถึงและใช้งานมันได้หรือไม่ แต่สำหรับช่วงเวลานี้ สิ่งที่เฝ้ารออีกอย่างนึงก็คือ เหรียญที่ซื้อๆไว้ มันควรจะขึ้นได้รึยังนะ T_T

svg1 min read

Leave a reply